เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี (ICC Hat Yai) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจัดขึ้น ตามโครงการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งเพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ศิลปะภูมิปัญญาไทย และสร้างความเชื่อมโยงกันในจังหวัดภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ภายในงานมีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมทั้งเครื่องจักสานของ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 50 บูธ อาทิ บาติกยางกล้วย จากกลุ่มกะลามะพร้าว บ้านหน้าถ้ำ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา, กระเป๋าเตยปาหนัน จากกลุ่มหัตถกรรมเตยปาหนัน บ้านวังหิน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่, ผ้าทอนาหมื่นศรี จากวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง, บาติกข้าวเมืองคอน บ้านรักเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช .พร้อมกันนี้ได้พระราชทานลายผ้า ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา หนังสือดอนกอยโมเดล หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี รวมทั้งกลุ่มสีจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 แก่ช่างทอผ้าและผู้ประกอบการ OTOP ด้วย ทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการต่างๆ ประกอบด้วย นิทรรศการสีธรรมชาติผ้าย้อมครามน้ำทะเล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยจังหวัดสงขลา, นิทรรศการผ้าทอเกาะยอของสามเณรวัดโคกเปี้ยว, นิทรรศการผ้าโบราณภาคใต้ ของกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหัตถกรรมเส้นใย จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นผ้าภาคใต้หาชมยาก ส่วนใหญ่เป็นผ้าจากจังหวัดสงขลาและจากชาวบ้านชุมชนมุสลิม มี “ผ้าปะรางิง” ผ้าที่มาจากประเทศอินเดีย แต่ถูกนำมาปรับใช้เทคนิคในการทำลวดลายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ และของดีของเด่น 14 จังหวัดภาคใต้
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้กลุ่มทอผ้า กลุ่มผ้าบาติก และกลุ่มจักสาน 35 กลุ่ม เฝ้ารับพระราชทานคำแนะนำ เพื่อเป็นการยกระดับผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ความเป็นธรรมชาติ และการบอกเล่าเรื่องราวประจำภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับและความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ทรงติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มต่าง ๆ รวม 21 กลุ่ม ซึ่งมีพระวินิจฉัย และพระราชทานคำแนะนำ ตั้งแต่ครั้งเสด็จไปทอดพระเนตรการจัดแสดงและสาธิตผลิตภัณฑ์ผ้าทอประจำถิ่นลวดลายต่าง ๆ และหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564
ก่อนเสด็จกลับ ทอดพระเนตรการแสดงระบำตารีกีปัส หรือ ระบำพัด จากนักศึกษา และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา รวมทั้งนักเรียนโรงเรียนแจ้งวิทยา ซึ่งเป็นการแสดงพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ นิยมแสดงในงานพิธีการ งานฉลอง และงานรื่นเริงทั่วไป โดยทำนองเพลงที่ใช้นำมาจากการแสดงชุด “ตาเรียนเนรายัง” ซึ่งเป็นเพลงประกอบการแสดงระบำประมงของชาวมาเลเซีย ส่วนชื่อเพลง คือ อีนัง ตังลุง เป็นเพลงผสมระหว่างมลายูกับจีน